Supper Bass

วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

โรคที่มักพบในลูกสุนัข





ก่อนนำลูกสุนัขใหม่เข้าบ้าน เราอยากให้คนเลี้ยงสุนัขและคนที่กำลังจะเลี้ยงสุนัขในอนาคตได้ทำความรู้จักคุ้นเคยกับโรคต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นในสุนัข เพื่อที่จะระมัดระวังได้อย่างถูกวิธีและเข้าใจการรักษาที่ถูกต้อง ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลยค่ะ



พยาธิในทางเดินอาหาร
ลูกสุนัขบางตัวจะพบการติดพยาธิตัวกลมในทางเดินอาหารจากการดื่มน้ำนมของแม่สุนัขที่มีพยาธิชนิดนั้นๆ อยู่ ซึ่งส่งผลให้ลูกสุนัขมีอาการถ่ายเหลว หรือในลูกสุนัขบางตัวที่มีพยาธิตัวกลมในทางเดินอาหารเป็นจำนวนมากจะพบว่าลูกสุนัขซูบผอม ลักษณะที่สังเกตได้จากภายนอกคือ ท้องจะกางจากภาวะของโปรตีนในเลือดต่ำ บางตัวอาเจียนหรือถ่ายเหลว แล้วมีพยาธิปนออกมา โดยพยาธิตัวกลมในทางเดินอาหารที่สามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก ได้แก่ พยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน ดังนั้น หากพบอาการดังกล่าว คุณควรถ่ายพยาธิให้กับทั้งแม่และลูกสุนัขไปพร้อมๆ กันค่ะ โดยการถ่ายพยาธิจะทำทุก 2-3 สัปดาห์ ประมาณ 4-5 ครั้งติดต่อกัน


โรคติดเชื้อในทางเดินอาหารจากเชื้อโปรโตซัว หรือเชื้อบิด
เชื้อโปรโตซัวที่พบบ่อยที่สุดมีชื่อว่า Giardia ค่ะ โดยอาการที่พบคือ สุนัขมักจะถ่ายเหลวหรือนิ่ม ไม่เป็นทรงตามปกติ สลับกับบางวันที่ถ่ายอุจจาระออกมาเป็นทรงปกติ และเมื่อนำอุจจาระมาตรวจก็จะพบเชื้อชนิดนี้ปนเปื้อนออกมากับอุจจาระของสุนัขที่ป่วย โรคนี้เป็นแล้วสามารถรักษาได้ ไม่เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตเหมือนกับโรคบางโรคที่จะกล่าวต่อไปค่ะ



โรคลำไส้อักเสบจากเชื้อพาร์โวไวรัส หรือโคโรน่าไวรัส
โรคนี้ถือเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรง สามารถติดต่อได้ค่อนข้างเร็วมาก ซึ่งการติดต่อเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสกับสุนัขที่ป่วยเป็นโรคนี้โดยตรง หรือจากการสัมผัสกับอุจจาระของสุนัขที่ป่วยด้วยโรคนี้ ระยะฟักตัวของโรคนี้จะอยู่ที่ 3-7 วัน อาการที่สังเกตเห็นได้ในตอนแรกๆ คือ สุนัขจะค่อนข้างซึมมาก มีอาการอาเจียน และถ่ายท้องเสียอย่างรุนแรง หลายครั้งบางรายมีการถ่ายเป็นเลือดสดๆ ในลูกสุนัขที่แสดงอาการป่วยค่อนข้างรุนแรงมากอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากให้สารน้ำและเกลือแร่ไม่ทันท่วงทีโรคนี้ไม่มียาที่ใช้ในการรักษาโดยตรง การรักษาจึงทำได้เพียงให้ยาเพื่อควบคุมการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนไว้เท่านั้น หรืออาจป้องกันโรคโดยการทำวัคซีนในลูกสุนัขที่มีอายุ 45 วันขึ้นไป ต่อเนื่องกันทุก 3 อาทิตย์ ประมาณ 2-3 ครั้ง จากนั้นในปีต่อมาจึงจะกระตุ้นปีละ 1 ครั้ง หรือในเจ้าของสุนัขบางรายสามารถกระตุ้นวัคซีนรวมให้แม่สุนัขก่อนการผสม เพื่อให้แน่ใจว่าแม่สุนัขจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ได้สูงพอและสามารถผ่านภูมิคุ้มกันโรคแบบรับมานี้ต่อไปยังลูกสุนัข โดยผ่านทางนมน้ำเหลืองในขณะที่ลูกสุนัขกินนมแม่



ไรในหู
เป็นโรคที่เราพบได้บ่อยมาก เวลาที่นำลูกสุนัขใหม่มาที่โรงพยาบาลสัตว์ โดยจะสังเกตเห็นว่า ลูกสุนัขจะแสดงอาการคันที่บริเวณใบหูอย่างมาก บางตัวจะแสดงอาการสะบัดหัวบ่อยๆ เมื่อเราเปิดดูที่บริเวณช่องหูจะเห็นว่า ลูกสุนัขจะมีขี้หูค่อนข้างเยอะ และขี้หูจะเป็นสีน้ำตาลถึงสีดำ ส่วนในรายที่เป็นมากๆ ช่องหูส่วนนอกจะมีการอักเสบร่วมด้วยค่ะ ซึ่งในบางครั้งจะมีการติดเชื้อของยีสต์ในช่องหู หรือมาจากเชื้อแบคทีเรียร่วมกันค่ะ การรักษาไรในหูในปัจจุบันนี้มีหลายวิธีค่ะ โดยจะใช้ยาหยอดหู หรือใช้ยาราดที่กลางหลังเพื่อควบคุมไรในหูก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเลือกวิธีใด แนะนำให้ทำต่อเนื่องกันอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่า ไรในหูได้ตายหมดแล้วจริงๆ



โรคไข้หัดสุนัข
เป็นโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสของไข้หัดสุนัข โดยสุนัขสามารถติดโรคนี้ได้จากการสัมผัสโดยตรงกับสุนัขที่ป่วยเป็นโรคนี้ หรือมีการสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งที่มาจากสุนัขป่วย อาการที่สังเกตเห็นโดยมากจะเริ่มเป็นที่ระบบทางเดินหายใจก่อน จากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนมาร่วมกับเชื้อไวรัสไข้หัด โดยเราจะพบว่าสุนัขมีขี้มูก ขี้ตาเยอะ และภาวะปอดบวม หรือในบางตัวอาจเริ่มต้นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทางเดินอาหาร และสุนัขจะแสดงอาการถ่ายเหลว ท้องเสียเรื้อรัง ซึ่งหลังจากการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ หรือทางเดินอาหารอย่างเรื้อรังไประยะหนึ่ง สุนัขอาจจะเริ่มแสดงอาการทางประสาท เช่น มีการกระตุกของกล้ามเนื้อ แขน ขา หรือ ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และอาจจะเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีอาการชักจากการที่เชื้อไวรัสไข้หัดขึ้นไปทำลายและรบกวนการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง สุนัขบางตัวเริ่มมีการชักกระตุก เดินวนไปมา ในบางรายอาจพบตาบอด และบางรายถึงขั้นเสียชีวิต โรคนี้ไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง แต่จะใช้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ แล้วรอจนกระทั่งร่างกายของสุนัขสามารถสร้างภูมิขึ้นกันที่มีต่อเชื้อนี้ขึ้นมา การทำวัคซีนเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสุนัขสร้างภูมิคุ้มกันโรค และในขณะเดียวกันแม่สุนัขสามารถผ่านภูมิคุ้มกันแบบรับมานี้ไปยังลูกสุนัขได้โดยผ่านทางนมน้ำเหลือง โดยวิธีการกระตุ้นวัคซีนของโรคนี้จะใช้แบบเดียวกันกับที่เราทำให้กับโรคลำไส้อักเสบค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น